การระบาดโนโรไวรัส ระยองเป็นข่าวคลาดเคลื่อน กรมอนามัยแจง
กรมอนามัย เตือนข่าวปลอม! แจง โนโรไวรัส จ.ระยอง ข่าวเก่า พ.ย. ติดเชื้อเพียง 2 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ E.coli และโคลิฟอร์ม แบคทีเรีย จำนวน 1,436 ราย พร้อมแนะวิธีป้องกันตนเอง
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมอนามัย แจ้งเตือนข่าวปลอม จากกรณีสื่อออนไลน์ นำข้อมูลการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ในจังหวัดระยอง ไปเผยแพร่โดยมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นั้น
กรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยองดังกล่าว เป็นเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นอาการท้องเสียของเด็กนักเรียนซึ่งเกิดจากเชื้อ E.coli และโคลิฟอร์ม แบคทีเรีย จำนวน 1,436 ราย โดยพบการติดเชื้อโนโรไวรัส จำนวน 2 ราย เท่านั้น และปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
กรมอนามัยขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรโนไวรัส เนื่องจากมักพบการระบาดในช่วงฤดูหนาว และในกล่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานต่ำ ดังนี้
1) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง
2) ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
3) ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
4) หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด
ส่วนหน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน ดังนี้
1) การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
2) การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
3) จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
4) การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค
โดยเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย
ทั้งนี้ กรณีพบผู้ป่วย ยังไม่พบอาการรุนแรง และเสียชีวิต ดังนั้น การที่สื่อออนไลน์ นำเพียงจำนวนตัวเลขการพบอาการอุจจาระร่วงในนักเรียนมาเผยแพร่ และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจผิดและหวาดกลัว โดยขาดข้อแนะนำและวิธีดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สามารถป้องกันได้ด้วยข้อแนะนำข้างต้น กรมอนามัย จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว รวมทั้ง หาข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐที่น่าเชื่อถือ