สธ. ระบุ ปลายฝนต้นหนาว ไข้หวัดใหญ่ปอดบวมระบาด

ห่วงประชาชนเจ็บป่วยด้วย 2โรค สำคัญช่วงอากาศเปลี่ยนปลายฝนต้นหนาว คือ ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม ปี 2559 นี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 2 โรคนี้กว่า 2.6 แสนคน เสียชีวิตเกือบ 300 ราย
ขอแนะนำประชาชนดูแลร่างกายให้แข็งแรง รักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่คลุกคลีหรือสัมผัสกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนแออัด

หรือมีอากาศเย็นจัด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ หากมีข้อสงสัย ปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง กำชับสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันขอให้พบแพทย์

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเริ่มเย็นลงและบางพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วย 2 โรค ที่พบบ่อย ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง วันที่ 26 กันยายน ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสม

99,894 คน เสียชีวิต 16 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ 7-9 ปี ร้อยละ 11.58 อายุ 25-34 ปี ร้อยละ 11.53 และอายุ 15-24 ปีร้อยละ 10.16 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพียง 9 เดือนของปี 2559 พบมากกว่าปี 2558 ตลอดปีที่พบผู้ป่วย 77,926 คน 2.โรคปอดบวม แต่ละปีพบผู้ป่วยประมาณ 2 แสนคน โดยในปี 2559 ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยสะสม 168,673 คน เสียชีวิต 273 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 30.40 อายุ 55-64 ปี ร้อยละ 10.66 และเด็กเล็กอายุ 1 ปี ร้อยละ 9.36 ซึ่งโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเกิดแทรกซ้อนตามหลังโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวาย เป็นต้น

“จากการติดตามข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังพบว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะพบผู้ป่วยสูง 2 ช่วง คือ มกราคมถึงมีนาคม และ กรกฎาคมถึงตุลาคม ส่วนโรคปอดบวมพบผู้ป่วยสูงช่วงกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน และ มกราคมถึงมีนาคม นอกจากนี้ ยังพบว่า จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุดส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีประกาศเตือนภัยหนาว สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชน และกำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ดูแลเต็มที่ ทั้งนี้ แนะนำประชาชนดูแลร่างกายให้แข็งแรง รักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่คลุกคลีหรือสัมผัสกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนแออัด หรือมีอากาศเย็นจัด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลายสายพันธุ์ เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายจากการไอหรือจาม หรือเชื้อติดมากับมือ อาการของโรคมักจะเกิดขึ้นด้วยอาการมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อยเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ ประมาณ 2–4 วัน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ขอให้พักผ่อนให้มากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน สวมหน้ากากอนามัย หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนขอให้พบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยง หากป่วยมีอาการไข้ไอเจ็บคอน้ำมูก ขอให้พบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป